สทป. จัดกิจกรรมค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ปี 2559 จากผลความสำเร็จของกิจกรรมค่ายวิทย์จรวดประดิษฐ์ที่จัดต่อเนื่องทุกปี มาเป็นเวลา 4 ปี ได้สร้างเยาวชนให้สนใจใฝ่รู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ สร้างแรงกระตุ้นให้เยาวชนระดับมัธยมปลายให้สนในเป็นนักวิจัยนักประดิษฐ์ในวงกว้าง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้ต่อยอดองค์ความรู้และการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่เป็นกิจกรรมค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ซึ่งนอกจากจะเป็นการบูรณาความรู้ด้านจรวด แล้วยังต้องบูรณาการกับความรู้ด้านสื่อสารอิเล็คทรอนิกส์ และยังท้าทายศักยภาพความสามารถในการใช้ความรู้พัฒนาเป็นจรวดประดิษฐ์ที่สามารถส่งข้อมูลจากบนอากาศสู่ภาคพื้นดินเมื่อจรวดถูกยิงขึ้นฟ้าแล้ว โดยต้องเก็บค่าต่างๆ อาทิ อุณหภูมิ ความสูง ความเร่ง และบังคับทิศทางให้ตกมายังเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งเป็นโจทย์ภารกิจจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสารปี 59 เป็นความท้าทายใหม่เพื่อการค้นคว้าพัฒนาขีดความสามารถการใช้งานจรวดประดิษฐ์ในมิติใหม่ โดยกลุ่มเป้าหมายเยาวชนสำหรับกิจกรรมค่ายปีนี้ คือ เยาวชนสายอาชีวศึกษาที่มีทักษะเชิงช่างอยู่แล้วให้นำองค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรม |
การคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม ค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสารปี 59 สทป. ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้เป็นผู้คัดเลือกนักศึกษาและอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคในเขตกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 16 สถาบัน ร่วมกับโรงเรียนนักเรียนทหารที่เทียบเคียงอีก 2 สถาบัน นักศึกษาสถาบันละ 5 คน รวมเป็น 18 ทีม รวมจำนวนนักศึกษา 90 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาจากวิทยาลัยรวม 30 คน จากวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี, ราชสิทธาราม, ดอนเมือง, ฉะเชิงเทรา, สมุทรสงคราม, ชลบุรี, ระยอง, สมุทรสาคร, สิงห์บุรี, ลพบุรี, สมุทรปราการ, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ราชบุรี, นครปฐม, สุพรรณบุรี, โรงเรียนอิเล็กทรอนิกส์ ทหารเรือ และโรงเรียนจ่าอากาศ |
กิจกรรมค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ปี 59 จัดเป็น 3 ช่วง ช่วงที่1 จัดระหว่างวันที่ 9 – 12 ก.พ. 59 เป็นกิจกรรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการ ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ และกิจกรรมสันทนาการสร้างสรรค์สร้างทีมเวิร์ค จัดที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี โดยพิธีเปิดค่ายครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พลเอก สมพงศ์ มุกดาสกุล ผอ. สทป. และ ดร.ชาญเวช บุญประเดิม รองเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอก ได้แก่ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี อดีตนักวิจัยนาซ่า และนักวิจัย สทป. ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้และประสบการณ์ ได้แก่ หลักการทางฟิสิกส์และปัจจัยเกี่ยวกับการเคลี่อนที่จรวด, ระบบขับเคลื่อน, กระบวนการผลิตจรวด, การออกแบบและสร้างจรวดประดิษฐ์, ระบบไมโครคอนโทรลเลอร์, ระบบ GPS, การประกอบระบบสื่อสารและระเบบเก็บข้อมูล SD Card เรียกว่าได้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจรวดและระบบสื่อสารอย่างเต็มที่ และยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างการทำงานเป็นทีมโดยการให้แก้โจทย์ปัญหาต่างๆ อาทิ The Teamwork Tournament รวมระยะเวลากิจกรรม 4 วัน 3 คืน จากนั้นแต่ละทีมได้รับมอบอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับสร้างจรวดประดิษฐ์ประกอบระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ |
ช่วงที่ 2 นักศึกษาลงมือสร้างจรวดประดิษฐ์ประกอบระบบสื่อสาร และพบคณะที่ปรึกษา หลังจากลงมือปฏิบัติแล้ว ได้พบปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาหลังลงมือปฏิบัติจริง ทั้งระบบจรวดและระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยครั้งที่ 1 ในวันที่ 15 มีนาคม 2559 จัดที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี โดยแบ่งเป็นกลุ่มพบที่ปรึกษานักวิจัยที่กำหนดให้เป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม สามารถสร้างความเข้าใจในความรู้นำไปพัฒนาจรวดประดิษฐ์ และจัดพบที่ปรึกษาอีกครั้ง ในวันที่ 18 เม.ย. 59 อาคาร สทป. เมืองทองธานี ให้นักวิจัย สทป. ตรวจเข็คความสมบูรณ์ของจรวดประดิษฐ์ จากนั้นได้จัดพา นศ. และอาจารย์ที่ปรึกษา นำจรวดประดิษฐ์ไปทดลองยิง เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 59 เพื่อให้ทุกทีมได้เห็นผลงานของตนเองและเอาไปปรับปรุงก่อนที่จะยิงแข่งขันชิงเงินรางวัล |
ช่วงที่ 3 จัดในวันที่ 11 – 12 พ.ค. 59 โดยจัดการนำเสนอ Detail Design Report ที่อาคาร สทป. และจัดการยิงทดสอบจรวดประดิษฐ์แข่งขันชิงเงินรางวัล ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ตกผลึกความรู้จากการลงมือปฏิบัติ จากความรู้สู่การปฏิบัติ ด้วยการลงมือประดิษฐ์จรวดติดระบบสื่อสาร เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ให้ตกผลึกสำหรับการค้นคว้าและการถ่ายทอดต่อ ทั้งในวิทยาลัยและ สทป. จึงกำหนดให้ นักศึกษาทุกทีมต้องจัดทำ Detail Design Report และฝึกการนำเสนอ ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 ณ ห้องสยามปฐมพีพิทักษ์ โดย นศ. ต้องจัดทำรายงานเป็นรูปเล่มและทำสื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วย นักวิจัย สทป. และอาจารย์พิเศษ จากอาชีวศึกษา รวม 8 ท่าน ใน Detail Design Report ให้รวบรวมและเรียบเรียงความรู้จากการปฏิบัติและอ้างอิงถึงทฤษฏีหรือหลักคิดที่ใช้ Detail Design Report ประกอบด้วย 15 หัวข้อ ภาพรวมของระบบ ระบบเซ็นเซอร์, ระบบหน่วงความเร็วและบังคับทิศทางของ Payload, ระบบโครงสร้างของ Payload, ระบบสื่อสารและจัดการข้อมูล, ระบบจัดการพลังงาน, ระบบ Software ควบคุมการทำงาน Payload, ระบบควบคุมภาคพื้น, การรวมระบบ, ระบบควบคุมภาคพื้น, การรวมระบบและทดสอบPayload, ระบบจรวด, ขั้นตอนการปฏิบัติภารกิจ, การตรวจสอบคุณลักษณะตามข้อกำหนด, การบริหารจัดการโครงการ แม้ว่าเนื้อหาความรู้ที่ นักศึกษาต้องจัดทำรายงานครั้งนี้จะไม่ง่ายเลย แต่นักศึกษษทุกทีมต่างก็ทุ่มเทกับการทำรายงานนำเสนออย่างเต็มที่ และน่าชื่นชมยิ่งที่หลายๆวิทยาลัยใช้ความคิดในมิติใหม่ๆ ในการพัฒนาจรวดประดิษฐ์ ทำให้คณะกรรมการได้ความรู้ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน และยังเห็นถึงศักยภาพการเป็นนักประดิษฐ์นวัตกรรมของเหล่า นักศึกษาสายอาชีวศึกษา ที่มีจุดเด่นในด้านทักษะเชิงช่าง คะแนนจากรายงานได้นำไปรวมกับคะแนนผลการยิงจรวดในวันต่อไปด้วย ซึ่งในวันนี้ นักศึกษาทุกทีมต่างได้นำจรวดที่ประดิษฐ์เสร็จแล้วมาให้พี่ๆนักวิจัยตรวจเช็คระบบจรวดให้เรียบร้อยก่อนการยิง |
ยิงจรวดแข่งขันชิงเงินรางวัลและพิธีปิดค่าย ช่วงที่สามของกิจกรรมค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสารในปีนี้ เป็นกิจกรรมยิงจรวดฯ แข่งขันชิงเงินรางวัลและพิธีปิดค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร โดยจัดขึ้นในวันที่ 12 พ.ค. 59 ณ เขาพุโลน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี เช้าวันแข่งขัน นักศึกษาทั้ง 18 ทีมพร้อมอาจารย์ ทั้งเดินทางไปเองและไปกับรถบัสที่ สทป. จัดให้ เมื่อถึงสนามแล้วแต่ละทีมได้นำระบบสื่อสารของจรวดไปตรวจสอบการเชื่อมระบบสื่อสารกับคณะกรรมการ และส่งมอบจรวดให้พี่ๆ สทป. บรรจุดินขับจรวดพร้อมยิงได้ โดยชุดแรกจัดยิงจรวดของ สทป. ก่อน แล้วจึงยิงจรวดของ นศ. ไล่เรียงแต่ละวิทยาลัยตามหมายเลขที่จับฉลากได้ การแข่งขันดำเนินไปอย่างตื่นเต้น ทั้งเจ้าหน้าที่ สทป. ที่จุดยิงจรวด และทีม นศ. ที่เป็นเจ้าของจรวด ด้วยแรงใจที่ลุ้นว่าจรวดของตัวเองจะส่งข้อมูลสื่อสารจากบนอากาศลงมาได้ไหม จะบังคับระบบสื่อสารที่ลอยอยู่ในอากาศให้ลงมาใกล้เป้าหมายได้แค่ไหน และเสียงเชียร์จากเพื่อนๆ ต่างสถาบัน และที่ลุ้นมากกว่าใครคืออาจารย์วิทยาลัยที่รับผิดชอบ ว่าทีมวิทยาลัยของตนจะประสบผลสำเร็จแค่ไหน กับแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทอย่างหนักตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา และในที่สุดก็ได้ทีมชนะ 3 ทีม และสรุปภาพรวมการยิงจรวดแข่งขัน โดย พล.อ.ต. เจษฏา คีรีรัฐนิคม รอง ผอ. สทป. (3) |
เกณฑ์การแข่งขัน แบ่งคะแนนเป็น 4 ส่วน 100 คะแนน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การทำงานของระบบจรวด จำนวน 30 คะแนน ส่วนที่ 2 การทำงานของระบบสื่อสาร 30 คะแนน และรายงานข้อมูลจากระบบสื่อสารเป็นกราฟ 20 คะแนน ส่วนที่ 3 การบังคับ Payload ตกในจุดเป้าหมายที่กำหนด 10 คะแนน และส่วนที่ 4 Detail Design Report จากวันที่ 11 พ.ค. 59 อีก 10 คะแนน โดยคณะกรรมการตัดสินแบ่งเป็นทีมให้คะแนนแต่ละส่วน อาทิ ทีมวัดระยะความสูงและความสมบูรณ์ของร่มจรวดและร่มPayload, ทีมประเมินการทำงานของระบบสื่อสาร และทีมประเมินระยะห่างจุดตกของระบบสื่อสารของจรวดกับจุดเป้าหมาย |
พิธีปิดค่าย พิธีปิดค่ายจรวดรประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ปี 59 หลังเสร็จสิ้นการยิงจรวดแข่งขัน โดย คุณนิลวรรณ ศิวภุชพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนกิจการพิเศษ สทป. กล่าวรายงานสรุปการจัดกิจกรรม จากนั้นได้รับเกียรติจาก พล.อ. สมพงศ์ มุกดาสกุล ผอ.สทป. มอบเกียรติบัตรแก่นั กศึกษา ประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษาภาคกลาง มอบเกียรติบัตรแก่ อาจารย์วิทยาลัยที่ปรึกษาประจำทีม และ พล.อ.อ. พงศธร บัวทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร สทป. ให้เกียรติเป็นประธานพิธี มอบเงินรางวัลทีมผู้ชนะการแข่งขัน 3 รางวัล กล่าวให้โอวาทและปิดค่ายฯ อย่างเป็นทางการ กิจกรรมค่ายฯ ปีนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ผู้บัญชาการศูนย์การทหารปืนใหญ่ ผู้บังคับบัญชาของ ศป. และผู้บริหารวิทยาลัยเทคนิค และสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมด้วย |
ผลการยิงจรวดประดิษฐ์แข่งขันชิงเงินรางวัล ค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ปี 59 รางวัลที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร คะแนนรวมสูงสุด 84.67 ได้เงินรางวัล 20,000 บาท รางวัลที่ 2 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ คะแนนรวม 78.94 ได้เงินรางวัล 10,000 บาท รางวัลที่ 3 วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม = คะแนนรวม 77.94 ได้เงินรางวัล 5,000 บาท ผลแห่งความสำเร็จ กิจกรรมค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ปี 59 เป็นกิจกรรมสร้างเสริมเยาวชนอาชีวะศึกษาที่มีความได้เปรียบในด้านทักษะฝีมือ ให้มีโอกาสได้เสริมความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งด้านจรวดและระบบสื่อสาร ก่อเกิดนักคิดค้นและประดิษฐ์ผลงานใหม่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งเยาวชนอาชีวะศึกษาได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยียุทโธปกรณ์สำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ได้เรียนรู้อย่างเชื่อมโยงทุกมิติ กล้าคิด กล้าทำ ในการบูรณาการความรู้ด้านจรวด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ กับความรู้ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและทักษะเชิงช่างซึ่งนักศึกษาอาชีวะมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ไปพัฒนาจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย และนำมายิงทดสอบประลองประสิทธิผลและประสิทธิภาพการทำงานของจรวด และประสบความสำเร็จทุกทีม เป็นการจุดประกายการค้นคว้าต่อยอดความรู้สร้างนวัตกรรมให้แก่สังคม กิจกรรมค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสารปี 59 จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวะให้เป็นนักประดิษฐ์คิดค้น สร้างศักยภาพและภาพลักษณ์ที่ดี ให้นักศึกษาอาชีวะเป็นบุคลากรที่มีฝีมือและมีค่าของชาติ |
ติดตามผ่านสื่อ Social ที่ : Facebook, Youtube
เว็บไซต์สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ ขออนุญาตใช้คุ๊กกี้เพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ท่านสามารถอ่านนโยบายคุ้กกี้ได้ ที่นี่.